“โกสุ้ย” “ม่อฉี” “บะจ่างฮกเกี้ยน” ขนมอร่อยและ “Hidden Gems” อื่นๆ ในเมืองเก่าตะกั่วป่า จ. พังงา


เราจะรู้ว่าอะไรมีคุณค่า ก็เมื่อเราได้เสียมันไป คำพูดแสนจริงที่ใช้ได้อยู่เสมอ รวมทั้งขนมธรรมดาที่เราได้กินเป็นประจำทุกวัน จนดูเหมือนว่าไม่มีอะไรพิเศษ

ร้านโกปี้ กั่วป่า ที่โกอุ๋ยตั้งธงให้เป็น “ห้องรับแขก” ของตะกั่วป่า เปิดทุกวัน ไม่ว่าฝนตกแดดออก และอย่าลืมว่าพังงาคือเมืองที่ ฝน 8 แดด 4

“โกสุ้ย ม่อฉี บะจ่าง นี่ก็คือขนมสดที่เราชาวพังงา ภูเก็ตกินกันมาทุกวันเป็นประจำ เป็นของธรรมดาที่เห็นกันมาตั้งแต่เด็กๆ แต่พอผมจะมาทำคาเฟ่ และอยากจะนำเสนอขนมท้องถิ่นเหล่านี้ ก็ปรากฏว่าหาคนทำได้ยากมากโดยเฉพาะม่อฉี” โกอุ๋ย ดร. กฤษฎา ตันสกุล ชาวตะกั่วป่า เจ้าของ Kopi Kuapa คาเฟ่เรโทรสวยงามใจกลางตลาดใหญ่ ในเมืองเก่าตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เล่าให้ Ohhappybear ฟัง

ภายในร้านโกปี้ กั่วป่า คาเฟ่ที่สร้างจากอาคารเก่ารกร้าง และนำเสนอขนมท้องถิ่นของตะกั่วป่าทั้งหมด “ไม่มีอย่างอื่นเจือปน” 

“ไม่ใช่ว่าผมจะหาขนมเหล่านั้นไม่ได้นะ แต่ที่เจอส่วนใหญ่สมัยนี้ รสชาติจะแตกต่างคือไม่เหมือนกับที่ผมเคยกินสมัยเด็กๆ … มันเพี้ยน ไป อย่างโกสุ้ยนี่ก็มีคนทำกันทั้งเมืองนะ เพราะเป็นขนมสดท้องถิ่นที่ เรากินกันอยู่ทุกวันอยู่แล้ว แต่รสชาติยัง ไม่ลงตัว กว่าผมจะหาคน ทำได้นี่ก็ยากลำบากพอสมควร”

โกอุ๋ย ดร. กฤษฎา ตันสกุล ชาวตะกั่วป่า เจ้าของ Kopi Kuapa คาเฟ่เรโทรสวยงามใจกลางตลาดใหญ่ ในเมืองเก่าตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

“อาหารและขนมไทย เป็นเรื่องของรสมือ ไม่ว่าเราจะทำสูตรขึ้นมายัง ไง คนที่ทำก็จะต้องมีรสมือที่ได้จากการได้ชิมของเก่าๆ เท่านั้นถึงจะ ทำออกมาได้ ของแบบนี้คือมรดกทางรสชาติที่เทคโนโลยีไม่ สามารถทดแทนได้ รสมือมันไม่สามารถ copy ได้” โกอุ๋ยอธิบาย

มองเผินๆ เมืองเก่าตะกั่วป่า คือเมืองเก่าที่มีความละม้ายคล้ายคลึง กับเมืองเก่าภูเก็ต ว่าไปทั้งสองก็มีรากเหง้าเดียวกัน คือจากการทำ เหมืองแร่เมื่อหลายปีก่อน ชาวตะกั่วป่าและชาวภูเก็ตหลาย ครอบครัวที่เราได้มีโอกาสเจอหลายท่าน ที่มักมีญาติพี่น้องเชื่อมโยง กันสองจังหวัด โกอุ๋ยเกิดที่ตะกั่วป่า แต่พอจบมัธยม 3 ก็ย้ายถิ่นฐาน ตามครอบครัวไปภูเก็ต

ภาพวาดรถโพถ้อง รถสองแถวประจำทางท้องถิ่นของจังหวัดพังงา

“ที่ตะกั่วป่า บ้านทำเหมืองแร่ดีบุกกับค้าขาย พอเหมืองแร่เริ่มปิดตัว ทุกอย่างซบเซา เราทำอย่างอื่นอย่างเช่นการเกษตรกันไม่เป็น ก็เลยต้องย้ายไปอยู่ภูเก็ตกัน ไปค้าขายต่อ” โกอุ๋ยเล่า

“ก็คิดว่าเป็นชาวภูเก็ตไปแล้วนะ จนกระทั่งได้กลับมาเดินย่านนี้อีก ครั้งเมื่อซัก ปี 2550 ที่เค้าเปิดตัวถนนคนเดินที่นี่ ตอนนั้นจำได้ว่า ความทรงจำถาโถมกลับมามาก คิดถึงอดีตอย่างรุนแรง จำได้ทุก อย่างทั้งความสนุกและความสุขวัยเด็กที่มันไม่มีอีกแล้ว ก็เลยฝันนะ ว่าอยากมีตึกเก่าย่านตรงนี้ซักที่ เพราะเห็นโอกาสในการพัฒนา”

สถานที่ท่องเที่ยวที่เมืองเก่า ตะกั่วป่า แสดงถึงรากเหง้าพหุวัฒนธรรมและความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของย่านนี้ 

จากตึกที่ร้างที่ซื้อไว้นานหลายปี โกอุ๋ยใช้เวลาที่ว่างช่วงโควิด เริ่ม ปรับปรุงสถานที่นี้ นำความทรงจำวัยเด็กกลับมาทั้งรูป รส บรรยากาศ

“เมื่อก่อนที่ตรงนี้เป็นร้านอาหาร ด้านข้างเป็นโรงแรมสามชั้นที่ใหญ่ที่สุดย่านนี้ ต่อมาก็ถูกแบ่งสรรปันส่วนให้แก่ลูกหลาน ผมก็มาซื้อตรงนี้” โกอุ๋ยอธิบาย

ร้าน Kopi Kuapa เปิดให้บริการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ช่วง แรกเปิดเฉพาะด้านหน้า

“คนถามผมมาตลอดว่าเปิดแล้วจะขายใคร เพราะเมืองมันเงียบสนิทจริงๆ แต่ทุกวันนี้เรารู้แล้ว ว่ามีคนจำนวนมากที่ชอบและเห็นคุณค่าสิ่งที่เราทำ และเราเปิดทุกวันด้วย เพราะเราถือว่าเราเป็นห้องรับแขกของตะกั่วป่า ใครไปใครมาเราก็จะได้ต้อนรับ”

ขนมสดสามอย่างที่สะท้อนรสมือชาวตะกั่วป่าแท้ๆ

ที่ร้าน Kopi Kuapa มีขนมสดประจำวันสามอย่างที่โกอุ๋ยเลือกแล้วว่าอร่อยเหมือนที่เคยกินวัยเด็ก ขนมสามอย่างนี้ ทำโดยอาอี๋สามท่าน และกว่าจะได้เจอและโน้มน้าวให้อาอี๋ทั้งสามท่านนี้มาทำขนมให้ที่ร้านเป็นประจำนั้นก็ “ยากลำบากทีเดียวครับ”

เรียงจากซ้ายไปขวา ม่อฉี โกสุ้ย และบะจ่างฮกเกี้ยน ขนมสดประจำเมืองพังงา และตะกั่วป่า ขนมโบราณที่แสดงถึงสังคมพหุวัฒนธรรม

โกสุ้ย – ขนมถ้วย มีขายสองแบบคือถ้วยใหญ่แบบที่ร้าน Kopi Kuapa หรือเป็นแบบจอกเล็กๆ ก็ได้ โกสุ้ยทำจากแป้งผสมกับน้ำตาลทรายแดง นึ่ง กินกับมะพร้าวทึนทึกขูดโรยหน้า ความอร่อย ของโกสุ้ยคือความเหนียวนุ่มได้ที่ของเนื้อแป้งที่ผสมกันอย่างลงตัว ความหอมที่ได้จากน้ำตาลทรายแดงและน้ำตาลอ้อย และความ หวานมันเค็มปะแล่มของมะพร้าวโรยหน้า ดูไม่ยากนะ แต่ก็ไม่ง่าย ทุกวันนี้คนที่ทำขนมโกสุ้ยให้กับโกอุ๋ยคือ ลูกหลานชาวตะกั่วป่าที่ได้ สูตรเด็ดมาจากอาม่า อายุเกิน 70 แล้ว “เพราะพอแกต้องหยุดทำเมื่อ ไหร่ ผมก็ต้องหยุดขาย แล้วผมก็ไปลองโกสุ้ยเจ้าอื่นมามากมายแล้ว นะ รสชาติกับความเหนียวหนึบกำลังดี ไม่มีอะไรแทนแกได้เลย”

ม่อฉี – หรือโมจิของชาวตะกั่วป่า เป็นหนึ่งในมรดกขนมท้องถิ่นที่คนย่านนี้ได้มาจากจีนปีนัง ซึ่งก็มาจากจีนญี่ปุ่น รากเหง้าทางนี้ และกลายเป็นเป็นขนมรับแขกบ้านแขกเมืองของที่นี่ที่มีสไตล์เป็นของตนเอง ม่อฉีตะกั่วป่าเป็นขนมแป้งละมุนนุ่มนวลมากๆ ด้านในบรรจุไส้ถั่วลิสงกรุบบดหยาบผสมงาดำงาขาว ตัวแป้งด้านนอกก็จะคลุกกับแป้งคั่วหอมๆ อีกที ซึ่งอาอี๋ผู้ที่ทำม่อฉีให้ร้านนี้ก็อายุกว่า 70 ด้วยเช่นกัน

บะจ่าง – บะจ่างลูกเล็กแบบนี้คือเอกลักษณ์ที่หากินได้ยาก เพราะมีที่เฉพาะตะกั่วป่า บะจ่างลูกเล็กแบบนี้ก็คือ “บะจ่างฮกเกี้ยน” จะได้ไม่ต้องไปปะปนสับสนกับ “บะจ่างแต้จิ๋ว” และมีไส้ที่แตกต่างจากบะจ่างลูกใหญ่ที่เราคุ้นเคย บะจ่างที่นี่ทำจากข้าวเหนียวดำหรือข้าวเหนียวขาวก็ได้ ไส้ด้านในคือหมูผัดพริกไทยดำและหอมใหญ่ เป็นหนึ่งในขนมสดท้องถิ่นตะกั่วป่า ที่หาทานที่อื่นแทบจะไม่มีเลย

“อาอี๋คนที่ทำให้นี่อายุกว่า 80 แล้ว และลูกหลานก็ไม่ทำต่อ บอกต้อง เก็บใบไผ่เช็ดไผ่มันเจ็บมือ ผมเองก็ไม่มีความถนัด ไม่อย่างนั้นจะไป ขอให้แกสอนให้ทำ”

สะพานเหล็กบุญสูง ทำจากเหล็กที่ใช้ในเหมืองแร่ ข้ามแม่น้ำตะกั่วป่า เป็นเส้นทางสัญจรสำคัญของชาวเหมืองสมัยก่อน ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนมาเยือนจะต้องมาถ่ายรูป ห้ามพลาดค่ะ

Hidden Gems ของตะกั่วป่า

เมืองเก่าตะกั่วป่าตั้งอยู่บนถนน “ศรีตะกั่วป่า” ไม่ไกลจากแม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำสายหลักในการขนส่งสินค้ายุคเหมืองแร่ ตรงนี้เคยเป็นตลาดใหญ่ที่รุ่งเรืองมาก มีผู้คนจากทั่วสารทิศมาตั้งรกรากเพื่อค้าขาย ฟังดูอาจจะคล้ายความเป็นมาของเมืองเก่าภูเก็ต แต่จากปากของคนท้องถิ่นสองที่อย่างโกอุ๋ย “ตะกั่วป่านั้นแตกต่างจากภูเก็ตอย่างสิ้นเชิง”

ความหลากหลายของชาวตะกั่วป่า ทั้งด้านฐานะและพื้นเพ สะท้อนให้เห็นจากรูปแบบบ้านและสถาปัตยกรรมในตัวเมืองเก่า ร้านสีขาวด้านขวาในภาพ คือ Yod Yakuza Studio ร้านตัดผม เสริมสวยที่คุณหลานและคุณยาย คนหนึ่งอายุ 40+ อีกคน 80+ ทำงานร่วมกัน

“เวลาไปเดินเมืองเก่าภูเก็ต เราจะเห็นว่าบ้านตรงถนนย่านนั้นมีความละม้ายคล้ายคลึง แทบจะเหมือนกันไปหมดทุกหลัง” โกอุ๋ยอธิบาย “ซึ่งก็เป็นเพราะว่าที่อยู่ตรงนั้นคือที่อยู่ของคหบดี ย่านคนรวยของภูเก็ตแทบทั้งนั้น ไม่เหมือนกับตะกั่วป่าที่เรามีความหลากหลายมากกว่า คนที่มาตรงนี้มาจากต่างถิ่นต่างฐานะ ซึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นจากบ้านเรือนต่างๆ ที่เราเห็นกันทุกวันนี้”

ที่หัวมุมของถนนกลั่นแก้ว บรรจบกับถนนศรีตะกั่วป่าคือ  Street Art ขนาดใหญ่ที่เแสดงถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

โกอุ๋ยสรุปยุคสถาปัตยกรรมของบ้านเรือนที่เมืองเก่าตะกั่วป่าได้ 5 ยุค ดังนี้

  1. Early Penang Style ยุคเริ่มแรก มาที่นี่ระหว่างปี ค.ศ. 1790’s-1850’s
  2. Eclectic Style เริ่มมีการผสมผสานของรายละเอียดทางสถา ปัตนกรรมโบราณมากขึ้น ปีค.ศ. 1840’s-1930’s
  3. Art Deco Style เริ่มมีลวดลายโค้งมน เพิ่มประดับตกแต่ง ปีค.ศ. 1930’s-1960’s
  4. Early Modern Style มาพร้อมลายเลขาคณิตของสมัยใหม่ใน ยุคนั้น ปีค.ศ. 1950’s -1970’s
  5. Modernism Style ลักษณะการตกแแต่งอาคารจะมีความทัน สมัยมากขึ้น ในยุคปี ค.. 1970’s – 1990’s

“ความหลากหลายของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของย่านนี้นี่แหละคือเสน่ห์ของตะกั่วป่า” โกอุ๋ย ผู้แบ่งเวลา “อยู่บ้าน” ทั้งสองที่คือภูเก็ตและตะกั่วป่า อธิบาย “เอาจริงๆ หากคนมาเดินรู้รายละเอียดเหล่านี้ ก็จะสามารถเดินได้สนุกสนานขึ้นเยอะ ซึ่งผมก็หวังว่าเราจะสามารถทำเป็นคู่มือให้คนที่สนใจมาเดินดูเที่ยวเมืองเก่าได้อย่างสนุกสนานขึ้นในอนาคตต่อไป”

ที่หัวมุมของถนนกลั่นแก้ว บรรจบกับถนนศรีตะกั่วป่า คือ Street Art ขนาดใหญ่ที่เแสดงถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

รู้หรือไม่ว่าอำเภอตะกั่วป่าเมื่อก่อนเคยมีฐานะเป็นจังหวัด

คนที่มาเที่ยวพังงาสมัยนี้ หากอยากเที่ยวให้ครบให้เห็นทุกมุมของจังหวัด ก็จะต้องขับรถเยอะมากเพราะว่าตัวจังหวัดอยู่ทิศหนึ่ง เขาหลักอยู่ทิศหนึ่ง และเมืองเก่าตะกั่วป่าก็อยู่อีกทิศหนึ่ง พี่ขวัญเจ้าของร้านจุมโพ่ที่เราได้สัมภาษณ์ไปเมื่อตอนที่แล้ว เป็นคนบอกให้เรารู้ว่าตะกั่วป่าคือจังหวัดหนึ่งในอดีต ก่อนที่จะรวมกับพังงา

ตอนนี้นอกจากเมืองเก่าตะกั่วป่าที่สะท้อนความรุ่งเรืองของจังหวัดเก่านี้ได้แล้ว สิ่งที่ทำให้เราสามารถคิดย้อนอดีตไปได้อีกก็คือ ศาลจังหวัดตะกั่วป่า ที่ยังคงสถานะเป็นศาลจังหวัดอยู่แม้ว่าตอนนี้ตะกั่วป่าจะถูกลดเป็นอำเภอลงแล้ว อีกที่คือศาลากลางประจำจังหวัดหลังเก่า ที่ปัจจุบันเค้าเปลี่ยนชื่อว่า “ที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า” โดยหากใครไปเที่ยว จะเห็นป้ายอธิบายความเป็นมาของอาคารเก่าโบราณสถานที่สวยงามแห่งนี้ไว้ว่า

ศาลากลางประจำจังหวัดหลังเก่า ที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ก่อนที่ “จังหวัดตะกั่วป่า” จะถูกรวมกับพังงา และถูกลดฐานะเป็นอำเภอ 

  • สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2472 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 เพื่อใช้เป็นศาลากลางจังหวัดตะกั่วป่า
  • ต่อมาเมื่อจังหวัดตะกั่วป่าถูกลดฐานะเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 อาคารหลังนี้จึงใช้เป็นที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่าตั้งแต่นั้นมา จนที่ว่าการอำเภอได้ย้ายไปทำการที่อาคารหลังปัจจุบัน
  • ศาลากลางประจำจังหวัดหลังเก่าเป็นอาคารชั้นเดียว มีหลังคาปั้นหยา มุงหระเบื้องว่าวซีเมนต์ กึ่งกลางอาคารต่อเป็นหน้ามุขเปิดโล่ง ด้านบนมุขตกแต่งเป็นทรงจั่วประดับลวดลายลูกกรงยาวตลอดตัวอาคารด้านหน้า ปลายปีกอาคารทั้งสองข้างเป็นห้องโถงใหญ่ เสาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐถือปูน แต่ส่วนพื้นเป็นไม้ ได้รับการบูรณะเมื่อปีพ.ศ. 2561
  • กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้อาคารหลังนี้เป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2545 โดยกำหนัดขอบเขตเนื้อที่ทั้งหมด 1 ไร่ 3 งาน 87.5 ตารางวา

 


นอกจากขนมสดสามรายการที่กล่าวไปแล้ว ร้าน โกปี้ กั่วป่า ยังมีขนมท้องถิ่นล้วนๆ ไม่มีอะไรเจือปนเลยอีกหลายรายการ เช่น ขนมโก๋ มอหล่าว ขนมพริก ขนมหน้าแตก และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนใครมาย่านนี้แล้วอยากทานอาหาร โกอุ๋ยก็ได้ไปเสริมสร้างพันธมิตรคนท้องถิ่นไว้แล้วอีก สามารถลองรับประทาน หมี่ฮกเกี้ยน ผัดไทย หรือจะก๋วยเตี๋ยวลงเรืออาหารที่โกอุ๋ยบอกเคยทานแต่ที่ตะกั่วป่าที่อื่นไม่มีก็ยังได้


? ร้าน Kopi Kuapa โกปี้ กั่วป่า 115 ถนนศรีตะกั่วป่า อ. ตะกั่วป่า จ. พังงา เปิดทุกวัน 8.00 – 20.00 โทร. 099 459 5355


ขอขอบคุณโกอุ๋ย ดร. กฤษฎา ตันสกุล สำหรับข้อมูลค่ะ


© OHHAPPYBEAR


 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *