
ตามหน้าที่นักเขียน สิ่งที่ดิฉันต้องทำในตอนนั้นคือ พยายาม document เรื่องราวการพัฒนาอินเทอร์เน็ตของประเทศต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย สองประเทศหลักที่ดิฉันทำตอนนั้นคือประเทศไทย ที่ต่อมากลายเป็นหนังสือ The History of Internet in Thailand พิมพ์สองภาษา สามารถดูได้ที่นี่ และอีกประเทศหนึ่งคือกัมพูชา ประเทศที่ทุกคนทราบดีว่าถูก interrupted ด้วยสงครามการเมืองและเชื้อชาติเป็นเวลากว่าสิบปี ที่ทำลายแทบจะทุกอย่าง ความรู้ วัฒนธรรม ประเพณีที่กัมพูชามี และกำลังจะก้าวหน้า ทุกอย่างโดนทำลายราบคาบ การเจริญเติบโตหยุดนิ่ง และกัมพูชาต้องเสียเวลาในการพัฒนาประเทศไปอย่างไม่รู้เท่าไหร่ เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก เมื่อปลายทศวรรษ 1990s กลุ่มวิศวกรคอมพิวเตอร์ของ NSRC สามารถติดต่อกับชายชาวเยอรมันที่ไปอยู่ที่พนมเปญได้เป็นครั้งแรก ค่อยๆ เชื่อมคอมพิวเตอร์ของเค้ากับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตโลกได้ สมัยนั้นการเชื่อมต่อยังใช้ระบบโทร (dial-up) โทรศัพท์ที่ใช้ก็เป็นโทรศัพท์ดาวเทียมเพราะ land line ไม่มี การติดต่อกับโลกภายนอกได้ครั้งแรกของกัมพูชาเป็นเรื่องตื่นเต้นมาก ความรู้เริ่มเข้าไปได้ คนกัมพูชาที่ให้ความสนใจเริ่มสามารถร่วมการพัฒนาด้านนี้ และดิฉันถูกส่งไปคุยกับชายเยอรมันคนนั้น เพื่อนำมาเขียนเป็นการบอกเล่าว่ากัมพูชาสามารถติดต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างไร เพื่อที่ประเทศอื่นๆ ในสภาพแวดล้อมเดียวกันจะได้นำมาเป็นตัวอย่าง เพื่อใช้ในประเทศของตน

จำได้ว่าบินบางกอกแอร์เวย์สนี่แหละ เพราะเป็นสายการบินเดียวที่บินจากกรุงเทพฯ ไปพนมเปญ และที่จำได้แม่นกว่าทั้งหมดทั้งปวงคือฝุ่นสีแดงจำนวนมากที่รายล้อมตัวดิฉันและทุกสิ่งทุกอย่างที่ดิฉันมอง คือ เมืองนี้มีแต่ฝุ่น นอร์เบิร์ตคนที่ดิฉันต้องคุยด้วยจองโรงแรมให้ เป็นโรงแรมที่ดีที่สุดในบัตเจ็ตที่เค้าให้ ณ ตอนนั้น ซึ่งก็เหมือนตึกแถวติดกันหลายห้อง ข้างบนแบ่งเป็นห้องๆ ทุกอย่างพอโอเค มีกลอนล็อกประตูแน่นหนาดี ไฟฟ้าก็มี แต่ก็อดไม่ได้ที่จะแอบกลัวๆ อยู่นะ เพราะตอนนั้นไปคนเดียวเลย สรุปคือได้เรื่องมาเขียนเรียบร้อยดี และที่ไม่ลืมเลยคือขากลับ ทั้งตอนนี้และตอนนั้นเขมรก็ยังใช้เงินดอลล่าร์สหรัฐเป็นเงินหลักอยู่ แต่สมัยนั้นยังต้องทำวีซ่าวุ่นวายมาก ตอนนี้ไม่ต้องแล้ว ตอนนั้นจำได้ว่าใช้เงินดอลล่าร์จนหมด เพราะไม่รู้ว่าจะต้องมีเงินอีก 20 เหรียญเพื่อจ่ายที่สนามบินขาออก โชคดีที่ว่ามีผู้ชายนักธุรกิจไทยคนหนึ่งเมื่อเห็นดิฉันมีปัญหา ก็ให้เงินดอลล่าร์ดิฉันมาแลกเงินบาท ทำให้สามารถจ่ายเงินผ่านสนามบินกลับออกมาได้ จำได้ว่าผู้ชายคนนั้นทำธุรกิจขายฟูกที่นอนนำเข้าจากไทย ตอนนั้นกัมพูชาน่าจะอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา บ้านใหม่ครอบครัวใหม่กำลังถูกสร้างมากขึ้น กิจการขายที่นอนหมอนมุ้งจึงเป็นโอกาสให้แก่นักธุรกิจไทย

ก็ปรากฏว่าเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดิฉันได้ถูกส่งให้ไปพนมเปญอีกครั้ง คราวนี้เป็นการเขียนเรื่องท่องเที่ยวให้กับนิตยสารฟ้าไทยของบางกอกแอร์เวย์ส

พนมเปญเปลี่ยนไปมาก หนึ่งเลย มีตึกมากมายทั้งสูงทั้งเตี้ยเต็มเมืองไปหมด ถนนที่เคยเป็นฝุ่นยังพอมีอยู่หากเป็นตรอกซอกซอย แต่ถนนใหญ่คือเป็นคอนกรีตฉาบยางมะตอยเรียบร้อย ฝุ่นน้อยลงมาก สอง รถติดมากๆๆๆๆๆ พนมเปญแบ่งออกเป็นหลายโซน โซนที่ดิฉันไปอยู่คือโซนใกล้ๆ พระราชวัง กระทรวงต่างๆ และมหาวิทยาลัยหลัก ง่ายๆ คือเป็นโซนสวยของเมือง ใช้เวลาจากสนามบินเข้าเมืองประมาณหนึ่งชั่วโมง นี่คือนั่งรถส่วนตัวที่เช่าไว้ เป็นรถเล็กซัสนั่งสบายมากๆ (ช่างแตกต่างจากการมาครั้งก่อนเสียจริง) และโรงแรมที่พักก็คือ Raffles Hotel Le Royal โรงแรม Heritage คือโรงแรมประวัติศาสตร์ ที่ตั้งอยู่ในตึกที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยปี 1929 ตั้งแต่สมัยที่เขมรยังเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส และผ่านเรื่องราวมามากมายของสงครามและการกวาดล้างของเขมรแดงที่ยาวนานกว่า 10 ปี

คราวนี้เองที่ดิฉันได้มีเวลาและโอกาสในการรู้เรื่องของกัมพูชาผ่านพนมเปญมากยิ่งขึ้น มีโอกาสได้คุยกับคน ทั้งเขมรและชาวต่างชาติที่ไปอยู่ที่นั่น พนมเปญกำลังโต ทุกคนบอกดิฉันเป็นเสียงเดียวกัน ของเก่าๆ กำลังจะโดนแทนที่ไปด้วยเงินทุนที่ไหลมาจากจีนและรัสเซีย สิ่งที่ได้คือความเจริญทางวัตถุ แต่สิ่งที่กำลังจะหายไปคือตึกโบราณสวยๆ ที่สร้างขึ้นหลังกัมพูชาได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศสในช่วงปี 1950s ช่วงนั้นถือว่าเป็นยุคทองของกัมพูชา จนกระทั่งมาเจอสงครามเขมรแดงในช่วง 1970s ที่ทำให้ประเทศนี้สูญสิ้นทุกอย่าง ทุกอย่างเพราะความบ้าอุบาทว์ของคนกลุ่มนี้

เราคนไทยมักมีความเข้าใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับชาวเขมร เรามักกลัวเค้าไม่ชอบเรา จากข่าวที่เคยมีการเผาธงชาติไทย เผาสถานทูตไทย เรื่องราวที่ดูหมิ่นดูแคลนกัน ดิฉันเองก็ไม่แตกต่างจากคนอื่น อคติเหล่านั้นทำให้ดิฉันไม่ค่อยสนใจจะหาเรื่องราวอะไรของกัมพูชาอ่านมากนัก แต่ก็ยังอยากจะไปก็แค่นครวัดนครธม อยากไปดูเช็คอิน ถ่ายรูปมาอวด เท่านั้นเอง

แต่การไปพนมเปญครั้งนี้ ทำให้ความรู้น้อยๆ ของดิฉันขยายตัวมากขึ้น ดิฉันต้องของขอบคุณโอกาสครั้งนี้ และมนุษย์ทุกคนที่ดิฉันได้เจอ ได้สัมผัส ได้คุย ได้สัมภาษณ์เพื่อการนี้ สิ่งแรกที่อยากเคลียร์คือ ชาวเขมรที่ดิฉันเจอทุกคน ไม่มีใครรังเกียจคนไทยเลย พอรู้ว่าเราสองคนเป็นคนไทย ทุกคนแฮ๊ปปี้มาก เค้ารักเมืองไทย และมองเมืองไทยเป็นต้นแบบของประเทศเพื่อนบ้านที่เค้านับถือ คนขับรถเขมรผสมจีนที่น่ารักมากของเราบอกว่า ประเทศในฝันที่อยากไปคือ ไทยแลนด์ หากจะตัดสูทก็จะต้องตัดกับช่างไทย ให้คนไทยออกแบบ และชอบกินอาหารไทยมากกว่าอาหารเพื่อนบ้านอีกประเทศนึงที่อยู่ติดกันแต่มีประวัติไม่ถูกกันมาตั้งแต่สงคราม

สอง คนเขมรหล่อสวยมากๆๆๆๆๆๆ ทำเอาป้าหมวยหน้าจืดๆ อย่างดิฉันมองตาค้างหลายครั้ง โดยเฉพาะเย็นวันหนึ่งที่อยากจะกินกาแฟ แต่ใช้เครื่องทำกาแฟในห้องไม่เป็น เลยเรียกพนักงานมาช่วย พนักงานคนนั้นมาถึงก็อธิบายมากมายแต่ดิฉันก็ฟังอะไรไม่รู้เรื่องอีก เพราะมัวแต่มองหน้าที่หล่อเข้มราวกับโขลกออกมาจากรูปปั้นของปราสาทหินสไตล์ขอมของเค้า หนุ่มคนนี้ยังบอกว่ารักเมืองไทยมาก อยากมาเที่ยว พอดีดิฉันแต่งตัวไม่สวยเลยไม่อยากขอถ่ายรูปด้วย หากคิดถึงหน้าแบบนั้น ก็เป็นอันต้องไปดูที่ตามปราสาทหินแทน เพราะใช่สไตล์นั้นเลยจริงๆ

ผู้หญิงเขมรแท้ๆ คือมีความคมเข้มมาก อธิบายไม่ถูกนะ แต่ดิฉันเห็นว่าสวยจัง เป็นความคมเข้มแบบเอเชีย ผิวคล้ำนิดๆ เซ็กซี่มาก ด้านล่างคือพนักงานร้าน Chinese House ร้านที่เก๋มากมาย ส่วนผู้หญิงเสื้อแดงด้านบนคือคุณ Seylark จากโรงแรม Raffles เธอบอกว่าบ้านเธอคือบ้านชาวนา แต่สนับสนุนให้เธอมีการศึกษา อังกฤษคล่อง ฝรั่งเศสคล่อง ทำงานเก่งมากมาย ดิฉันชอบมองหน้าเธอเวลาเธอพูด แถมออกไม้ออกมืออย่างออกรส น่ารักดี

แน่นอนว่าพนมเปญยังมีมุมที่ยังไม่พัฒนาอีกมากมาย จากถนนใหญ่ เข้าตรอกซอกซอยก็ยังคงเป็นดินแดง ฝุ่นตลบ กองขยะ ความทรุดโทรม ไร้ระเบียบ มันคือความวุ่นวายแบบเมืองที่กำลังจะโต มันคือความแตกต่างของสิ่งที่เคยทำ ความสะดวก การไม่คิดมาก ความชุ่ยความเอาง่ายเข้าไว้ของมนุษย์ ที่แตกต่างจากการพัฒนาที่ควรจะมาพร้อมความเป็นระเบียบเรียบร้อย พนมเปญคือเมืองหลวง คนที่นี่จะ sophiticated มาก ไปตึกออฟฟิศ เราจะเห็นพนักงานชาวเขมรหอบของพะรุงพะรังขึ้นและลงลิฟต์พร้อมถือแก้วกาแฟแบบเก๋ๆ เป็นซีนเดียวกันกับเมืองใหญ่และคนทำงานในเมืองใหญ่ทั่วโลก นี่คือบางส่วนของกัมพูชาที่ดิฉันเก็บมาฝาก ส่วนเรื่องว่าจะไปเที่ยวที่ไหนได้บ้าง สามารถอ่านได้จากนิตยสารฟ้าไทย ฉบับ พฤศจิกายน – ธันวาคม 2560 ที่ http://fahthaimag.com/
